ขึ้นชื่อว่าการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คืออาการบาดเจ็บนั่นเอง เพราะการเล่นกีฬาแต่ละครั้ง หรือแต่ละประเภทกีฬา จะมีการใช้แรงจากร่างกายในส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ตามแต่ละชนิดกีฬา ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดกับนักกีฬาชนิดต่าง ๆ จะมีความแข็งแรงของร่างกายแต่ละส่วนที่ต่างกัน เช่นวิ่งที่มีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง นักเทนนิสจะมีแขนข้างที่ถนัดใหญ่กว่าข้างที่ไม่ถนัด เป็นต้น แต่กว่าที่ร่างกายของนักกีฬาเหล่านั้นจะแข็งแกร่งได้ มันย่อมจะผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ซ้ำแล้วซ้ำอีก และสิ่งหนึ่งที่จะตามมาในระหว่างการฝึกนั้นก็คือ ปัญหาอาการบาดเจ็บนั่นเอง
สำหรับนักกีฬาไตรกีฬาก็เช่นกัน ยิ่งเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นกีฬาที่เรียกกันว่า “คนเหล็ก” แล้วนั้น ย่อมจะต้องใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงอย่างแน่นอน ทั้งการว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน และการวิ่ง เป็นระยะทางไกล ๆ การใช้ร่างกายแต่ละส่วน ซ้ำ ๆ เดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ อาจจะเกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อส่วนนั้น ๆ ตามมาก็เป็นได้ และอาการบาดเจ็บที่นักไตรกีฬานักจะพบเจอในการเล่น จะแบ่งออกตามประเภทกีฬาต่าง ๆ คือ
การว่ายน้ำ ในการเล่นไตรกีฬานั้น จะต้องมีการว่ายน้ำเป็นระยะทางไกล ๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ และการบาดเจ็บที่เกิดจากการว่ายน้ำที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็คือ การบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ เพราะเป็นส่วนที่ต้องใช้ออกแรงซ้ำ ๆ ตลอดการเล่นนั่นเอง อาการที่พบบ่อยได้แก่ การอักเสบของกล้ามเนื้อ บริเวณหัวไหล่ และการเสียสมดุลของกล้ามเนื้อบริเวณรอบหัวไหล่ เนื่องจากการออกแรงที่ไม่เท่ากัน
การปั่นจักรยาน ในการปั่นจักรยาน ร่างกายส่วนที่ใช้งานหนักคือร่างกายส่วนล่าง ดังนั้นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจึงมักจะเกิดบริเวณส่วนล่างของร่างกาย คืออาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ซึ่งเป็นการบาดเจ็บในส่วนของลูกสะบ้าหัวเข่าและกระดูกต้นขา รวมไปถึงอาการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่เกิดจากการเสียดสีมาก ๆ อีกด้วย
การวิ่ง การวิ่งเป็นการเล่นส่วนที่ต้องใช้ร่างกายล้วน ๆ ในการเล่นไตรกีฬา เพราะการว่ายน้ำ ยังมีแรงลอยตัวของน้ำ ที่ช่วยลดแรงกระแทกของการออกกำลังได้ หรือส่วนการปั่นจักรยาน ก็มีอุปกรณ์อย่างจักรยานที่ออกแบบมาเพื่อทุ่นแรงของผู้เล่นอยู่แล้ว แต่การวิ่งร่างกายส่วนล่างจะต้องแบกรับน้ำหนักของร่างกายไปเต็ม ๆ ตลอดระยะทาง ดังนั้นอาการบาดเจ็บจากการวิ่งจึงมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณเท้า และข้อเท้า รวมไปถึงการอักเสบของเส้นเอ็นฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย และยังมีอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า และกล้ามเนื้อขาอีกด้วย ที่ต้องเฝ้าระวัง
อาการบาดเจ็บนั้นเรียกว่าเป็นของคู่กันกับนักกีฬาเลยก็ว่าได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันอาจจะทำให้การเล่นกีฬาหมดสนุกได้ หรือบางทีหากอาการบาดเจ็บนั้นรุนแรง อาจจะทำให้อดเล่นกีฬาไปเลยก็มี แต่อาการบาดเจ็บเหล่านั้น ก็ไม่ได้น่ากลัวจนถึงกับไม่กล้าเล่นกีฬา เพราะนักกีฬาสามารถจะป้องกันและแก้ไขได้ ด้วยการเฝ้าระวังสังเกตอาการของร่างกายตนเอง และฝึกซ้อมการใช้ร่างกายให้ถูกวิธี และเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสม เพียงเท่านี้นอกจากอาการบาดเจ็บจะลดลงแล้ว ร่างกายของคุณก็จะแข็งแกร่งขึ้น และสนุกกับการเล่นกีฬาได้อย่างเต็มที่ อย่างแน่นอน