เลเวลไหน ของไตรกีฬาที่เหมาะสมกับตัวคุณ

อย่างที่รู้กันว่า ไตรกีฬาคือกีฬาที่วัดกันที่ความทรหด อดทนของทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เล่น ทำให้ใครหลาย ๆ คนที่อยากจะลองสัมผัสกับกีฬาชนิดนี้ เกิดความกังวลอยู่บ้าง ว่าตัวเองจะสามารถผ่านความโหดหิน ของเจ้ากีฬาชนิดนี้ไปได้หรือไม่ เพราะเพียงแค่ได้ยินว่า มันคือกีฬาของผู้ที่เรียกว่า “คนเหล็ก” แล้วนั้น ผู้คนธรรมดาย่อมจะจินตนาการไปก่อนว่ามันจะต้องหนักเกินกว่ากีฬาธรรมดาอย่างมากแน่นอน และด้วยความกลัวว่ามันจะยากเกินกว่าความสามารถที่ตัวเองมี จนความกลัวนี้ทำให้คน คนนั้นอดที่จะได้สัมผัสกับความสนุกของกีฬาชนิดนี้ไปเลยก็ได้ และมันอาจจะทำให้คน คนนั้นไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่า จริง ๆ แล้วเขาก็อาจจะก้าวขึ้นไปเป็นคนเหล็กได้เช่นกัน

เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คน ที่อยากจะเล่นไตรกีฬาได้สัมผัสกับกีฬาชนิดนี้ได้ และเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของแต่ละคน การจัดการแข่งขันไตรกีฬา จึงได้จัดแบ่งประเภทการแข่งขันออกตามระยะทาง เพื่อให้นักกีฬาสามารถเลือกได้ว่า สภาพร่างกายของแต่ละคน เหมาะกับการแข่งขันในระดับไหน โดยมีการแบ่งเป็นประเภทหลัก ๆ ตามระยะทาง ออกเป็น 4 ระยะดังนี้

  1. ระยะสปรินต์  (Sprint Distance) เป็นระยะทางที่ใช้ในการแข่งขันที่สั้นที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใกล้ซะจนใคร ๆ ก็ผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เพราะขึ้นชื่อว่า “คนเหล็ก” แล้วนั้น มันย่อมจะไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน โดยการแข่งขันระดับนี้จะมีระยะทางทั้งหมดคือการว่ายน้ำ 750 เมตร ปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตร และการวิ่งอีก 5 กิโลเมตร
  2. ระยะมาตรฐาน (Standard หรือ Olympic Distance) ระยะมาตรฐานเรียกอีกอย่างว่า ระยะโอลิมปิกเพราะนี่คือระยะที่ใช้ในการแข่งโอลิมปิกนั่นเอง โดยระยะทางในการแข่งขันนั้น แบ่งออกเป็น การว่ายน้ำ 1.5 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่งอีก 10 กิโลเมตร เรียกได้ว่าระยะนี้ เข้าขั้นโหดอย่างแท้จริง เพราะขึ้นชื่อว่า โอลิมปิกแล้วนั้นมันย่อมไม่ง่ายอย่างแน่นอน
  3. ระยะฮาล์ฟ (Half Distance) ระยะโอลิมปิกว่าโหดแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน ระยะโอลิมปิกนั่นยังไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำ เพราะระยะครึ่งหนึ่งของการแข่งขันจริงหรือระยะฮาล์ฟนั้น มีระยะอยู่ที่ การว่ายน้ำ 1.9 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตร และวิ่งอีก 21 กิโลเมตรเลยทีเดียว
  4. ระยะเต็ม (Full Distance) นี่คือระยะทางที่เป็นระดับของคนเหล็กอย่างแท้จริง แน่นอนว่าระยะเต็มก็คือระยะฮาล์ฟคูณสองนั่นเอง นั่นเท่ากับว่าจะต้องว่ายน้ำทั้งหมด 3.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่งอีก 42 กิโลเมตรอีกด้วย เรียกว่า ต้องคนเหล็กตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น สำหรับระยะนี้

นักกีฬาที่อยากจะทดสอบร่างกายตัวเอง ด้วยการเล่นไตรกีฬา สามารถเลือกลงแข่งได้ตามระยะทางต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคนได้ และสำหรับนักกีฬามือใหม่จริง ๆ ในประเทศไทย ยังมีการแข่งขันอีกระยะทางหนึ่งที่เรียกว่า ไตรแดช โดยเป็นการปรับจากการแข่งขันระยะสปรินต์ โดยลดการว่ายน้ำลง เหลือ 400 เมตร แล้วปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตร และวิ่ง 5 กิโลเมตรเท่าเดิม หากคุณเล่นกีฬาเป็นประจำอยู่แล้ว ย่อมจะสามารถประเมินขีดความสามารถของร่างกายตัวเองได้ อย่ามัวแต่กังวลกับความยากของไตรกีฬาอยู่เลย  เลือกระยะทางที่เหมาะสม แล้วออกไปท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง เพื่อทดสอบความเป็นคนเหล็ก ในตัวคุณกันได้เลย

เครดิตภาพ : https://www.posttoday.com/life/healthy/540047

Related Post