ตะคริว นับว่าเป็นอาการบาดเจ็บที่มักจะเกิดขึ้นกับนักกีฬาทุกประเภทอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเกิดมาคู่กันกับกีฬาเลยก็ว่าได้ เพราะกีฬาต้องใช้กล้ามเนื้อ และเมื่อใช้กล้ามเนื้อก็ต้องมีโอกาสเกิดตะคริวขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเป็นกีฬาที่ต้องใช้การออกแรงของกล้ามเนื้ออย่างหนักแบบไตรกีฬาแล้ว การเกิดตะคริวย่อมมีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย และที่สำคัญหากตะคริวเกิดขึ้นในขณะแข่งไตรกีฬาแล้วด้วย ยิ่งจะเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน เพราะไตรกีฬาไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้เหมือนกีฬาประเภททีม อีกทั้งยังมีระยะทางที่ไกล หากเกิดขึ้นในช่วงต้น ๆ การแข่งขัน อาจจะต้องทรมานไปตลอดเส้นทาง หรือต้องออกจากการแข่งขันไปเลย ซ้ำร้ายหากเกิดขึ้นในขณะว่ายน้ำ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะมีการจมน้ำเสียชีวิตเนื่องจากเป็นตะคริวมาแล้วนั่นเอง
สาเหตุการเกิดตะคริว สำหรับนักกีฬาบางคน มีความคิดว่าการเกิดตะคริวมีผลมาจากการขาดน้ำ หรือการขาดเกลือแร่ แต่ในทฤษฎีทางการแพทย์แล้ว ชี้ชัดว่าการเกิดตะคริวในขณะเล่นกีฬานั้น ไม่ได้เกิดจากการขาดทั้งสองอย่างเลย เมื่อปี 1997 ด็อกเตอร์ มาร์ติน ชเวลนัส ได้เสนอทฤษฎีที่อธิบายการเกิดตะคริวได้ดีที่สุดว่า การยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อนั้น เกิดจากสัญญาณการสั่งการของระบบประสาท ซึ่งมีความสมดุลกัน เมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไป และกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงไม่พอแล้วนั้น จึงทำให้ระบบประสาทสั่งการ การหดตัวของกล้ามเนื้อมีมากเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งขึ้นมานั่นเอง
เมื่อเกิดอาการตะคริวขึ้นในขณะเล่นกีฬาแล้วนั้น การปฐมพยาบาลด้วยตัวเองที่ง่ายที่สุด คือการพยายามยืดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการหดตัวของกล้ามเนื้อนั่นเอง โดยทำการยืดกล้ามเนื้อแช่ไว้ 15-30 วินาที ซ้ำ ๆ กันไป จนกล้ามเนื้อส่วนที่เกร็งนั้นคลายตัว และลดการเจ็บลง จึงเริ่มออกแรงโดยเริ่มจากเบา ๆ ก่อน
วิธีป้องกันการเกิดตะคริว นักกีฬาสามารถลดการเกิดตะคริวในขณะเล่นกีฬาด้วยวิธีการดังนี้
- ฝึกซ้อมให้เพียงพอ และเหมาะแก่การแข่งขัน ตามแต่ละชนิดกีฬา
- สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนที่มักจะเกิดอาการตะคริว คือบริเวณกล้ามเนื้อน่อง และกล้ามเนื้อต้นขานั่นเอง
- ควบคุมเวลาในการสปรินท์ให้ดี ไม่พยายามฝืนออกตัวเร็ว หรือสปรินท์อย่างหนัก เกินกว่าที่ร่างกายเคยฝึกซ้อมมา
- ผ่อนโปรแกรมก่อนถึงวันแข่ง ปัญหาการเกิดตะคริวในนักกีฬาส่วนหนึ่งมาจาก ที่นักกีฬาทำการฝึกซ้อมที่ผิด ๆ อย่างเช่นการหักโหมฝึกอย่างหนัก ก่อนวันแข่งจริง ซึ่งอันที่จริงแล้วควรลดโปรแกรมการฝึกลงในช่วงก่อนแข่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- พักผ่อนให้เพียงพอ หากร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอแล้ว อาจจะเกิดอาการล้าของกล้ามเนื้อตามมาได้เพราะฉะนั้น การพักผ่อนจึงมีความสำคัญต่อการแข่งขันอย่างมาก
การป้องกันการเกิดตะคริวนั้น นักกีฬาทุกคนสามารถปฏิบัติตัวเพื่อลดโอกาสการเกิดได้ตั้งแต่การซ้อม ดังนั้นนักกีฬาทุกคนควรจะปฏิบัติตัวในการฝึกซ้อมอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะไม่ให้ปัญหาร้ายอย่างตะคริว เข้ามารบกวนในขณะที่ทำการแข่งขันได้เพราะในการแข่งขันกีฬานั้น ทุกช่วงเวลามีความสำคัญต่อการไปสู่เป้าหมายเสมอ ไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะเป็นเส้นชัย หรือความสุขกับกีฬาที่คุณรักก็ตาม
เครดิตภาพ : https://www.samitivejhospitals.com/